ไม่มีใครอยากให้คนที่ท่านรักต้องจากไปแบบไม่มีวันกลับ แต่ความตายเราไม่สามารถกะเกณฑ์มันได้ เมื่อความตายมาถึงแล้ว คนที่อยู่ต้องตั้งสติเตรียมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธต้องเตรียมหลังคนที่ท่านรักเสียชีวิตก็คืองานศพ บทความนี้จะช่วยท่านให้รู้จักการจัดงานศพให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
1. การแจ้งตาย
ต้องแจ้งต่อสำนักงานเขตหรือ/อำเภอใน 24 ชั่วโมงหลังจากเสียชีวิตเพื่อรับใบมรณะบัตร ในกรณีที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล จะมีหนังสือรับรองการตายที่โรงพยาบาลออกให้เพื่อใช้ประกอบกับบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านในการออกใบมรณะบัตร แต่ในกรณีการตายโดยผิดธรรมชาติเช่นการฆาตกรรม อุบัติเหตุไม่มีสาเหตุแน่ชัด ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนชันสูตรพลิกศพ และส่งสำนวนต่อนายทะเบียนเพื่อแจ้งตายต่อไป
2. ติดต่อวัด/นำศพไปวัด
- แทบทุกวัดในประเทศไทยมีบริการในการจัดงานศพอยู่แล้ว เพียงท่านติดต่อเข้าไปก็จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและแนะนำท่านต่อในเรื่องต่างๆ เช่นพิธีกรรม การนิมนต์พระสงฆ์ ค่าใช้จ่าย บุคลากร สิ่งของ เครื่องใช้ ฯลฯ การรับศพจากโรงพยาบาลไปที่วัด มีได้หลายวิธี เช่นบริการรถของโรงพยาบาล บริการรถตู้ของร้านโลงศพ บริการรถตู้จากวัด และก่อนย้ายศพจะมีการฉีดฟอมาลีนจากทางโรงพยาบาลก่อน(หากไม่ต้องการฉีดสามารถแจ้งได้) การเลือกวัด ควรเลือกวัดที่ใกล้บ้านเพื่อการเดินทางจะได้สะดวกรวดเร็ว เพราะเจ้าภาพต้องจัดงานหลายวัน
3. การรดน้ำศพ
การอาบน้ำศพ โดยทั่วไปจัด ณ ศาลาวัดที่ใช้สวด โดยให้เจ้าภาพจัดชุดแต่งตัวให้ผู้ตายอาจเป็นชุดที่ผู้ตายชื่นชอบ และหากเป็นข้าราชการก็อาจให้ใส่ชุดข้าราชการของผู้ตายเต็มยศ (หากเสียชีวิตจากโรงพยาบาลจะมีบริการเปลี่ยนจุดจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก่อนนำศพมาที่วัด) โดยมีอุปกรณ์ประกอบพิธีคือ ขันน้ำใบเล็ก ขันน้ำใบใหญ่ พานใส่ขัน พวงมาลัยคล้องข้อมือ น้ำหอม น้ำอบ กลีบกุหลาย ดอกมะลิ
4. การสวดอภิธรรม
จำนวนวันที่สวดขึ้นอยู่กับพอใจของเจ้าภาพและงบประมาณ ส่วนใหญ่ 3-7 วัน โดยจะต้องเดินทางมาตอนเช้าในการสวดวัดแรกเพื่อจุดธูปและนำอาหารมาวางที่หน้าศพ รอจนธูปดับและกลับบ้าน มาอีกครั้งในตอนสวดในตอนเย็น ซึ่งควรมาล่วงหน้าก่อนพิธีสวดซัก 2 ชม. เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับแขก
บางท่านต้องการเก็บศพไว้นานกว่า 7 วัน เช่น 100 วัน , 1 ปี เป็นต้น ต้องทำการตกลงกับทางวัดว่าเก็บที่ไหนอย่างไร เพราะไม่จำเป็นต้องสวดทุกวัน เช่นช่วงแรกสวด 7 วันจนครบแล้ว หลังจากนั้นสวดแค่สัปดาห์ละ 1 วัน จนถึงฌาปนกิจ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละภูมิภาค
5. การฌาปนกิจศพ
- วันฌาปนกิจ หรือวันเผา ท่านต้องมาแต่เช้าเพราะบางท่านมีการบวชหน้าไฟและมีการเลี้ยงเพลพระหลังจากนั้น
ในตอนบ่ายมีการสวดธรรมเทศนา สวดมาติกาบังสุกุลและเริ่มพิธีเผาตอนประมาณช่วงบ่าย โดยเริ่มจากนำโลงศพขึ้นรถเข็นวนรอบเมรุ 3 รอบ โดยพระสงฆ์นำขบวนตามด้วยเณร กระถางธูป และรูปหน้าศพ หลังจากนั้นจะนำโลงขึ้นบนเมรุเผา มีการถวายผ้าบังสุกุลหน้าโลงโดยญาติหรือแขกคนสำคัญ(พระท่านจะถามรายชื่อล่วงหน้า) ตามด้วยให้แขกเริ่มการวางดอกไม้จันทน์จนครบ พร้อมกับญาติๆ แจกของชำร่วยงานศพในทางลง ก่อนจะนำศพเข้าเตาเผาจะมีการเปิดโลงบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย และนำเข้าเตาเผาเริ่มเผา
-
6. การเก็บอัฐิ
บางวัดเก็บอัฐิในวันเผาได้เลย บางวัดต้องเก็บอัฐิวันรุ่งขึ้น มีอุปกรณ์พื้นฐานดังนี้ ดอกมะลิ,กุหลาบ เหรียญ10 จำนวน 9 เหรียญ ดอกไม้ 1กำ อาหารถวายพระ1ชุด ซองสำหรับให้พระสวด โกศใส่อัฐิ โดยพิธีการโดยสังเขปคือพระสงฆ์ 1 รูปพร้อมเจ้าหน้าที่วัดจะนำกระดูกชิ้นหลัก 9 ส่วนวางในถาดตามด้วยวางเหรียญ 10 ด้านบนกระดูก เช่นกระโหลก แขนขา ลำตัว ฯลฯ (บางภูมิภาคนำกระดูกชิ้นเล็กๆ ชิ้นน้อย พรมน้ำอบ น้ำหอม ดอกไม้และปั้นหยาบๆ เป็นรูปให้มีแขนขาคล้ายๆคน) หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้ญาติจุดธูปอธิษฐานว่าจะนำกระดูกไปไว้ที่ไหนบ้าง เช่นใส่โกศ ลอยอังคารที่ไหน ฯลฯ หลังจากนั้นพระสงฆ์จะสวด หลังจากสวดเสร็จเราก็ถวายอาหารพระ
เสร็จแล้วนำอัฐิใส่ลุ้งห่อด้วยผ้าขาว และนำไปลอยอังคารต่อไป
7. การลอยอังคาร
เพื่อความสะดวกสามารถนำไปลอยอังคารได้ตามวัดริมแม่น้ำ หรือเช่าเรือไปลอยอังคารกลางแม่น้ำก็ได้
การจัดงานศพนอกจากจะเป็นการทำบุญครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้ตาย ให้ผู้ตายสู่ภพภูมิที่ดีแล้ว ยังเป็นการแสดงความอาลัยของญาติสนิท มิตรสหาย ให้ได้บอกลาเป็นครั้งสุดท้าย อีกทั้งยังเป็นการเยียวยาจิตใจให้แก่ครอบครัวอีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นรูปแบบการจัดงานต้องอยู่กับความพอดีพอเพียงและเหมาะสมอีกด้วย และหากท่านมองหาของชำร่วยงานศพดีๆ มองหานภาบ้านของชำร่วยงานศพนะคะ
นภาของชำร่วยงานศพ